Saturday, January 17, 2009

สิ่งสำคัญในการประเมิน “ผลงาน” ให้ได้ “ผลดี

หน้าที่อย่างหนึ่งของ HR เมื่อใกล้เวลาสิ้นปีก็คือ การเตรียมประเมินผลการทำงานของพนักงาน ซึ่งจะนำผลที่ได้จากการประเมินมาใช้เพื่อปรับปรุงแก้ไขการทำงานของพนักงาน พัฒนาการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ก่อเกิดผลผลิตที่มีคุณภาพ ซึ่งมีผลสำคัญอย่างมากต่อการเติบโตขององค์กร ด้วยเหตุนี้ทุกองค์กรจึงไม่อาจหลีกเลี่ยงการประเมินผลงานของพนักงานได้ อย่างน้อยต้องทำปีละ 1 ครั้ง หรือหากองค์กรใดมีความพร้อมที่จะประเมินได้บ่อยกว่านี้ อาจเป็นทุก ๆ 3 เดือน หรือ 6 เดือนก็จะช่วยให้ปัญหาถูกแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว
เป้าหมายของการประเมินคืออะไร??
เราประเมินผลการทำงานเพื่อให้ผู้จัดการหรือหัวหน้างานได้สื่อสารกับพนักงาน แลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็น ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ในการทำงาน แนะนำกลยุทธ์เพื่อการเติบโตในอาชีพอย่างต่อเนื่องให้แก่พนักงาน รวมถึงรับฟังปัญหาของพนักงาน เพื่อเตรียมหาแนวทางการแก้ไข ปรับปรุง พัฒนาการทำงานของพนักงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี ทุกวันนี้ยังมีการถกเถียงกันอยู่โดยตลอดเกี่ยวกับประสิทธิภาพของกระบวนการประเมิน ว่าการประเมินนั้นจะใช้ได้ผลเพียงใด มีความแม่นยำเที่ยงตรงจริงหรือ ทั้งนี้คงไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ตัวเครื่องมือแต่เพียงอย่างเดียว กระบวนการในการประเมิน รวมทั้งความร่วมมือของพนักงานและผู้บริหารก็มีส่วนสำคัญต่อผลการประเมินไม่แพ้กัน
ปัจจัยที่ทำให้การประเมินมีประสิทธิภาพนั้นเริ่มตั้งแต่การออกแบบการประเมิน หากแบบประเมินถูกออกแบบมาเป็นอย่างดี มีเป้าหมายและแนวทางที่ชัดเจน มีการบริหารจัดการโดยผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการฝึกอบรมมาอย่างเข้มข้น แบบประเมินย่อมเป็นเครื่องมือที่ได้รับการยอมรับและความเชื่อถือ เมื่อเครื่องมือพร้อม กระบวนการประเมินก็ควรจะพร้อมด้วย ซึ่งหมายถึง การประเมินให้ได้ผลดีต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหาร ได้รับความร่วมมือจากพนักงาน รวมทั้งตัวผู้ประเมินเองด้วย โดยปกติแล้วคือ หัวหน้างานหรือผู้จัดการ หากผู้ประเมินไม่มีความพร้อมในการประเมิน เช่น ไม่รู้วิธีการประเมินที่ถูกต้อง มีความลำเอียงในการประเมิน เลือกที่รักมักที่ชัง หรือไม่ใส่ความตั้งใจลงไปในการประเมิน อาจส่งผลให้การประเมินล้มเหลว ไม่สามารถวัดผลได้ ถือเป็นการเสียเวลาและงบประมาณไปโดยเปล่าประโยชน์
ผู้ประเมินจึงต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการประเมินเพื่อให้ :
พนักงานได้รับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำงานของตนอย่างสม่ำเสมอ และได้รับข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์สำหรับการแก้ไขจุดอ่อนต่าง ๆ ในการทำงาน
ผู้จัดการและพนักงานร่วมกันกำหนดเป้าหมาย วางแผนปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน กำหนดการฝึกอบรมและการพัฒนาที่จำเป็นสำหรับพนักงาน รวมถึงพูดคุยเกี่ยวกับโอกาสก้าวหน้าในอาชีพ เช่น การเลื่อนตำแหน่ง และการขึ้นเงินเดือน เป็นต้น
ผู้จัดการเข้าใจลึกซึ้งถึงหน้าที่ความรับผิดชอบที่แตกต่างกัน ทำให้สามารถส่งเสริมสัมพันธภาพในการทำงานระหว่างพนักงานในแต่ละแผนกได้ดียิ่งขึ้น และทำให้ทักษะในการบริหารจัดการมีความเข้มแข็งมากขึ้น
ผู้จัดการและพนักงานมีการสื่อสารกันอย่างสม่ำเสมอ มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และรับฟังซึ่งกันและกัน พัฒนาความสัมพันธ์แบบให้และรับต่อกัน ทำให้การทำงานร่วมกันเป็นไปอย่างราบรื่น
จะเห็นได้ว่าการประเมินมีประโยชน์อย่างมากต่อองค์กร แต่หากผู้ประเมินไม่สามารถจัดทำการประเมินอย่างยุติธรรม มีประสิทธิภาพ และช่วยให้พนักงานเกิดการพัฒนาได้แล้วละก็ สิ่งที่ตามมาอาจเป็นผลเสียมากกว่าผลดี การประเมินที่ไม่มีคุณภาพอาจทำให้พนักงานเกิดความคับข้องใจ รู้สึกไม่มั่นคง และส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในองค์กรตามมาได้ ดังนั้นผู้ประเมินต้องใส่ความตั้งใจลงไปในกระบวนการประเมินให้มาก และพยายามเข้าถึงพนักงานให้มากที่สุด เพื่อที่จะค้นพบปัญหาที่แท้จริง และหาวิธีการแก้ไขให้ถูกต้อง เหมาะสมกับพนักงานแต่ละคน
ท้ายที่สุดแล้วทั้งผู้จัดการและพนักงานต้องเข้าใจว่าไม่มีระบบการประเมินแบบใดที่สมบูรณ์แบบในโลกนี้ ทุก ๆ การประเมินล้วนมีจุดอ่อนที่จะต้องจัดการแก้ไข แต่เมื่อไรก็ตามที่คุณให้ความสำคัญกับการประเมิน พยายามป้องกันข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น คุณจะได้เครื่องมือที่ช่วยในการแก้ปัญหาการทำงานของพนักงานและเพิ่มผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ

By Peungae

No comments: